
สาระที่ 4 การอาชีพ
มาตรฐาน ง 4.1 เข้าใจ มีทักษะที่จำเป็น มีประสบการณ์ เห็นแนวทางในงานอาชีพ ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาชีพ มีคุณธรรม และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพ
ตัวชี้วัด ข้อที่ 1 อธิบายแนวทางการเลือกอาชีพ
หน่วยการเรียนที่ 1 เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและนำทักษะเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้ จัดทำสื่อสำหรับการประชาสัมพันธ์แบบง่าย ๆ ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ มีเจตคติที่ดีในการทำงาน รักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยใฝ่เรียนรู้อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
จุดประสงค์การเรียนรู้
ด้านความรู้ (K) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. บอกความหมายของการประชาสัมพันธ์ ได้
2. บอกความสำคัญของการประชาสัมพันธ์ได้
3. บอกประโยชน์ของการประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานได้
4. สามารถเขียนผังมโนทัศน์ ความหมาย ความสำคัญ และประโยชน์ ของการประชาสัมพันธ์ได้
ด้านเจตคติ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ (A) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต
2. มีทักษะในการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
3. มีคุณธรรม รักชาติศาสน์กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัยใฝ่เรียนรู้อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ
ด้านทักษะและกระบวนการ (P) เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประชาสัมพันธ์
2. ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สามารถนำทักษะเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. ความสามารถในการสื่อสาร
2. ความสามารถในการคิด
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา
4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
ความรู้เบืิ้องต้นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์
คำว่า การประชาสัมพันธ์ เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากในปัจจุบัน ทั้งในหน่วยงาน องค์กร สถาบันต่างๆ และในหมู่สาธารณชนทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากงานประชาสัมพันธ์กำลังได้รับความสนใจและยอมรับจากประชาชนทั่วไป ในฐานะที่การประชาสัมพันธ์เป็นงานเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ระหว่างหน่วยงานกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง
การประชาสัมพันธ์ เป็นคำใหม่และเป็นแนวความคิดใหม่ จึงทำให้มีผู้เข้าใจไม่ถูกต้องถึงความหมายและบทบาทอันแท้จริงของการประชาสัมพันธ์ ในความหมายที่ง่ายที่สุดนั้นคำว่า การประชาสัมพันธ์ หมายถึง การสัมพันธ์กับประชาชน (Relations with the public) แต่การอธิบายความหมายเพียงสั้นๆ เพียงเท่านี้คงไม่เกิดประโยชน์อันใด และอาจทำให้เกิดความไข้วเขวขึ้นได้ เพราะคำว่าการประชาสัมพันธ์ในความหมายดังกล่าวอาจอธิบายในแง่ของสภาพการณ์ และในแง่ที่เป็นกิจกรรม อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การประชาสัมพันธ์หรือการดำเนินงานประชาสัมพันธ์นั้น ส่วนหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการชักจูงประชามติ (Public opinion) ด้วยวิธีการติดต่อสื่อสาร (Communication) เพื่อให้กลุ่มประชาชนเป้าหมาย (Target publics) เกิดมีความรู้ความเข้าใจและมีความรู้สึกที่ดีต่อหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน การประชาสัมพันธ์จึงมิใช่เป็นเพียงแค่งานเผยแพร่ (Publicity) แต่งานประชาสัมพันธ์เป็นงานในเชิงสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เป็นงานส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสร้างสัมพันธภาพระหว่างหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยยึดถือหลักความจริงและประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
การประชาสัมพันธ์ เป็นงานในระดับนโยบายที่องค์กร สถาบันทุกประเภท ต่างนำเอาการประชาสัมพันธ์ไปใช้กับองค์กรหรือสถาบันของตนอย่างกว้างขวางแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานของตนกับประชาชน ป้องกันการเข้าใจผิด ตลอดจนการลดสาเหตุแห่งความขัดแย้งต่างๆ รวมทั้งการใช้การประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนนโยบายและการดำเนินงานขององค์กร สถาบัน เสริมสร้างและรักษาชื่อเสียง ความนิยม ความเชื่อถือศรัทธา และความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนที่พึงมีต่อหน่วยงานของตน
คำว่าการประชาสัมพันธ์ เป็นคำที่พบเห็นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน จนเกิดความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริง เช่น ความเข้าใจสับสนระหว่างการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา (Advertising) การโฆษณาสินค้าต่างๆ ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ จนบางคนสรุปเอาว่าการโฆษณาคือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งความจริงแล้วการประชาสัมพันธ์มิใช่การโฆษณาสินค้า ถึงแม้บางครั้งอาจมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดก็ตาม เป็นต้น
ขอขอบคุณ: www.navy.mi.th/civil/news_civil/KM/infomation.doc
|